การออกแบบ

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

เปิดบันทึก ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ อาคารประวัติศาสตร์โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย มรดก 103 ปี ของชาวมาแตร์ฯ สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6

พ.ศ.2471 คณะนักบวชอุร์สุลินโดยมาแมร์ยุคบุกเบิกได้จัดซื้อที่ดินย่านหลังสวนในกรุงเทพฯ โดยมีเรือนหลังหนึ่งติดมาด้วยกับที่ดิน เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนและอารามแห่งแรกของคณะอุร์สุลินในประเทศไทย เรือนหลังนี้ซึ่งติดมากับที่ดินถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

อาคารเรียนซึ่งมีอารามอยู่ภายในเรือนหลังเดียวกันนี้ รวมเรียกว่า เรือนวัดน้อย หรือที่ชาวมาแตร์ฯ เรียกสั้นๆ ติดปากกันว่า ‘วัดน้อย’

2 ก.พ. พ.ศ.2471 สังฆราชแปร์โรสได้เดินทางมาเสกตัวอาคารวัดน้อยและที่ดิน และประกอบพิธีมิสซาแรกบนวัดน้อย วันดังกล่าวจึงถือเป็นวันสถาปนาโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

การออกแบบ

‘เรือนวัดน้อย’ มีความสำคัญยิ่งทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และความรักความผูกพันของชาวมาแตร์เดอีฯ เนื่องจากเคยใช้เป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียน เป็นโบสถ์คาทอลิก และเป็นที่พักอาศัยของคณะมาแมร์

มีหลักฐานพบว่าบ้านติดที่ดินหลังนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2463 นับจากเปลี่ยนเป็น ‘เรือนวัดน้อย’ ก็ผ่านการต่อเติมปรับเปลี่ยนรูปแบบมาหลายยุคหลายสมัย บางส่วนถูกทำลายจากระเบิดสมัยสงครามโลก และเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

ในโอกาสวันสถาปนาโรงเรียนเวียนมาครบรอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และสมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดงาน Wat Noi 103 Years .. The Legacy Continues เพื่อเปิด ‘เรือนวัดน้อย’ ที่มีอายุ 103 ปี หลังได้รับการบูรณะเสร็จเรียบร้อย จากการนำทีมศึกษาข้อมูล วางแผนและดำเนินงานบูรณะโดย ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ และศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน หรือคุณ ‘โก้’ กล่าวถึงประวัติ เรือนวัดน้อย ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับ ‘สถาปัตยกรรม’ อันสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัยว่า เรือนหลังนี้เคยเป็นบ้านข้าราชการท่านหนึ่ง ต่อมาได้ขายให้กับนายห้างชาวอินเดียซึ่งทำธุรกิจนำเข้าม้าในสมัยรัชกาลที่ห้า

ก่อนคณะนักบวชอุร์สุลินจะซื้อที่ดินตรงนี้ เรือนหลังนี้เคยเป็นสำนักงานชื่อ แองโกลสยาม ของชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้หนึ่งในห้าของประเทศไทยก่อนมีการตั้งกรมป่าไม้ มีหลักฐานซื้อขายบ้านหลังนี้อยู่ในบัญชีของบริษัทที่ประเทศอังกฤษ

“เรือนวัดน้อยมีรูปแบบอาคารสมัยรัชกาลที่ 6 ตามบันทึกหลักฐานเก่าสุดที่หาเจอคือสร้างในปี 2463 ในโฉนดระบุว่าชื่อ ‘บ้านปทุมวัน’ ถึงระบุได้ว่าอายุประมาณ 103 ปีเมื่อถึงปี 2566

รูปแบบอาคารสมัยรัชกาลที่ 6 คือยกใต้ถุนสูง ครึ่งล่างเป็นปูน ครึ่งบนเป็นงานไม้ คือพวกบานประดับตกแต่ง ลายฉลุ หลังคาปั้นหยามีหน้าจั่ว มีระเบียงหันไปรับลม มีความเป็นบ้านตากอากาศ เพราะอยู่ชานเมือง ข้าราชการส่วนใหญ่มีบ้านหลักอยู่กลางเมืองในเขตพระนคร แล้วมาสร้างบ้านใหม่ตามถนนสุขุมวิท ถนนวิทยุ คลองเตย พระรามสี่ ศาลาแดง”

ดร.ยุวรัตน์เริ่มงานบูรณะปี 2563 คือในปีที่ ‘เรือนวัดน้อย’ มีอายุครบ 100 ปี ใช้เวลาบูรณะ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ ‘เน้นการซ่อมและเสริมความแข็งแรง’ ตามหลักการอนุรักษ์เรือนโบราณ

ข่าวแนะนำ : การรถไฟฯ แจงเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน